นวัตกรรมและการจัดการล้ำสมัยแบบศุภาลัย

1960 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นวัตกรรมและการจัดการล้ำสมัยแบบศุภาลัย

นวัตกรรมและการจัดการล้ำสมัยแบบศุภาลัย




                    มีหลายคนถามผมว่า ทำไม “ศุภาลัย” ปีที่ผ่านมา 2021 จึงมีกำไรสูงสุด 7,070  ล้านบาท และมีผลประกอบการเฉลี่ยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา(2017-2021) โดยเฉพาะการทำกำไร(Profitability) ที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับ 10 บริษัทจดทะเบียนชั้นนำของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน โดยดูจากกำไรสุทธิหลังภาษีที่ศุภาลัยทำได้เฉลี่ย 22 %  เทียบกับ  10  บริษัทชั้นนำเฉลี่ย 15% และกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่  ศุภาลัยทำได้ 16% เทียบกับเฉลี่ย 13% ของ 10 บริษัทชั้นนำ

                        “ศุภาลัย” มีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร

                        “ศุภาลัย” ใช้วิธีบริหารที่คล่องตัว ยืดหยุ่น โดยไม่ยึดติดรูปแบบเดิม ๆ พร้อมเปิดสู่มุมมองใหม่ที่กว้างกว่า คิดและสร้างสรรค์ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ และคุณค่าทางศิลป์เพื่อพัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ บนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมาย มาตรฐานวิชาชีพที่ดีตลอดจนมาตรฐานสากล 9001:2015 และสัญญาที่ตกลงกับลูกค้า ประกอบกับศีลธรรม จรรยา มารยาท ที่ดีด้วย

                        ตารางเปรียบเทียบต่อไปนี้แสดงถึงการจัดการในยุคต่าง ๆ และความแตกต่างของการบริหารจัดการแบบ “ศุภาลัย” ซึ่งได้ทำไว้ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งบริษัทฯ หรือประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วมา

การจัดการล้าสมัย
Old Fashion Management
การจัดการตามสมัย
Modern Management
การจัดการล้ำสมัยแบบ “ศุภาลัย”
Post Modern Management
1) เป็นวิธีที่ทำกันในอดีต1) เป็นวิธีที่ส่วนใหญ่ทำกันในปัจจุบัน1) เป็นวิธีใหม่ที่ดีกว่า แต่มีเพียงบางคน หรือกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ใช้
2) ใช้วิธีคาดคะเน กะเกณฑ์เอาไม่ได้ใช้การคำนวณ วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง2) ใช้วิธีการคำนวณ วิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ เช่น 2+2=42) ใช้แนวทางวิทยาศาสตร์ แต่ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมโดยที่ผลลัพธ์ยังคงเดิมเช่น 2+2=3+1 หรือ 8 หาร 2
3)มักใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นหลัก3) ใช้ทฤษฎี กรณีศึกษาต่าง ๆ เป็นหลัก3) ไม่ยึดมั่นในทฤษฎี หรืออิงประสบการณ์มากเกินไป แต่ใช้วิธีจัดการตามสถานการณ์
4) อารมณ์มีส่วนในการตัดสินใจมาก4) ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล สถิติ4) ตัดสินใจบนพื้นฐานของปัจจัยต่าง ๆ ที่กว้างกว่าเดิม เช่น นำเอาจิตวิทยา สังคมวิทยา  ช่วงเวลา กาลเทศะ ศิลปะ ฯลฯ เข้ามาพิจารณาด้วย
5)  มักใช้ได้กับกิจการขนาดเล็ก5) มักใช้กับกิจการขนาดกลาง-ใหญ่5) ใช้ได้กับกิจการทุกขนาด ทุกประเภท และทุกแขนง
6) มักใช้วิธีการแบบเผด็จการ โดยการสั่งการด้วยความคิดของบุคคล6) มักใช้วิธีการแบบประชาธิปไตย ซึ่งอาจเป็นการประชุม ลงมติ การทำแบบสอบถาม ความเห็น ฯลฯ6) เลือกใช้รูปแบบตามความเหมาะสมทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีกว่า
7) มักไม่ค่อยมีการวางแผนล่วงหน้า7) วางแผนล่วงหน้า แต่บ่อยครั้งที่ใช้

ค่าใช้จ่ายและเวลาในการวางแผนมากเกินไป จนทำให้เสียโอกาส เสียดอกเบี้ย และเกิดผลกระทบในทางลบตามมาในภายหลัง
7) วางแผนที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายและเวลาที่ลดลง เพื่อลดการเสียโอกาส เสียดอกเบี้ยและอื่น ๆ
8) เน้นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสูงสุด โดยไม่คำนึงว่าผิดกฎหมาย เช่น โกงภาษี โดยทำบัญชี 2 ชุด เป็นต้น8) เน้นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น และพนักงานเป็นหลักแต่คำนึงถึงผลกระทบของบุคคลภายนอกน้อย บริษัทส่วนมากเน้นทำเพียงให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่สนใจจริยธรรม เช่น ใช้พลังที่เหนือกว่า เข่นฆ่าคู่แข่งขันรายเล็ก เป็นต้น8) พยายามสร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้รับเหมา สังคม ฯลฯ ประกอบกับจริยธรรม และจรรยาบรรณที่ดี


         

                    ต่อไปลองมาดูตัวอย่างบางส่วนของการบริหารจัดการแบบล้ำสมัยแบบ “ศุภาลัย” กันบ้าง

1.      การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาที่ดิน เหมาะสำหรับโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยทำ โดยเฉพาะโครงการที่มีความซับซ้อนมาก  แต่ถ้าเป็นโครงการใหม่ที่เหมือนกับโครงการที่เคยทำมาแล้ว จะไม่มีความจำเป็นเลย เช่น การซื้อที่ดินต่อจากโครงการเดิมในต้นทุนที่ถูกกว่าเดิม เป็นต้น

หลักการวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการในปัจจุบันก็ยังมีช่องว่าอยู่มาก โดยเฉพาะทางด้านข้อมูล ซึ่งมักจะนำข้อมูลในอดีตมาใช้ ทั้ง ๆ ที่จะนำไปทำโครงการในอนาคต และถ้าทำละเอียดเกินไปใช้เวลามากเกินไป ข้อมูลที่ทำได้ก็จะล้าสมัย

การทำการศึกษาที่ละเอียดพอและใช้เวลาน้อย แต่ไม่ละเอียดเกินความจำเป็นหรือใช้เวลามากเกินไป จะทำให้ไม่พลาดโอกาสในการซื้อดินผืนงามไป

“ ศุภาลัย ”  เป็นบริษัทพัฒนาที่ดินที่มีทั้งโครงการบ้านจัดสรรในแนวราบชานเมือง อาคารชุด ซึ่งเป็นอาคารสูงใจกลางเมืองและมีทั้งโครงการต่างจังหวัด จึงมีข้อมูลสะสมต่าง ๆ ที่หลายหลาก ทำให้ลดเวลาการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการได้มาก และเป็นข้อมูลของจริงที่เชื่อถือได้ ประกอบกับ “ ศุภาลัย ” ได้พัฒนา MODEL การวิเคราะห์การลงทุนขอโครงการที่กระชับ รัดกุม แบบ One Page Analysis จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุนได้ในเวลาสั้น ๆ เพียงไม่ถึงชั่วโมง ที่ละเอียดรอบคอบและความเสี่ยงน้อย

 

2.      การตลาด

“ ศุภาลัย ”  เคยพัฒนากลยุทธ์ด้านราคา โดยนำหลักการเงินเข้ามาช่วยการตลาด โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกซื้อห้องชุดได้โดยชำระเงินเร็ว-ช้า ต่าง ๆ กัน ถึง 5 วิธี  ตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน โดยยืนอยู่บนพื้นฐานของมูลค่าปัจจุบัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำของธนาคาร ซึ่งบริษัทฯ กู้ได้เป็นหลัก ลูกค้าพอใจที่มีโอกาสเลือกมากขึ้นและซื้อมากขึ้น บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในเทคนิคดังกล่าว

 

สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้เกินกระแสการสร้างบ้านเสร็จก่อนขาย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าซื้อบ้านแล้วได้บ้าน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยลดลง และการคุ้มครองผู้บริโภคเข้มงวดมากขึ้น และผู้ประกอบการบางรายนั้นสินค้ามีจุดอ่อนที่ไม่อยากให้ลูกค้าเห็นในระหว่างก่อสร้าง…

 

“ ศุภาลัย ” ได้เลือกใช้วิธีขายบ้าน ทั้งบ้านสร้างเสร็จ และบ้านสั่งสร้าง แต่จะขายบ้าน สร้างใกล้เสร็จ เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นบ้านในระหว่างสร้าง และมีความมั่นใจว่าบ้านจะสร้างเสร็จตามกำหนด เพราะเหลืองานอีกไม่มาก กรณีนี้บริษัทฯจะสามารถควบคุมต้นทุน และเวลาการก่อสร้างได้ดี ไม่ผิดข้อตกลงกับลูกค้า มีความเสี่ยงที่สินค้าจะค้างสต็อกน้อย และประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่า

กรณีที่ลูกค้าอยากจะซื้อ บ้านสร้างเสร็จ เพราะจะรีบย้ายเข้าอยู่ก็มีขายด้วย หรือลูกค้าบางคนอยากจะจองทำเลที่ถูกใจ แต่จะย้ายเข้าอยู่ในปีถัดไปโดยใช้วิธี บ้านสั่งสร้าง ใหม่ก็ได้

 

3.      การก่อสร้าง

“ศุภาลัย” ใช้วิธีการจัดจ้างผู้รับเหมาทั้ง “รายใหญ่” “รายกลาง” และ “รายเล็ก” ประกอบกัน แทนที่จะจัดจ้างเฉพาะผู้รับเหมา “รายใหญ่” เพราะ ผู้รับเหมาแต่ละประเภทจะมีข้อดี-ข้อเสียต่าง ๆ กันไป โดยผู้เหมารายใหญ่ส่วนใหญ่จะมีเงินทุนสูงกว่า เครื่องมือมากกว่าแต่ราคาจะสูงกว่า และยืดหยุ่นได้น้อยกว่าส่วนผู้รับเหมารายกลาง-เล็ก จะมีเงินทุนน้อยกว่าเครื่องมือน้อยกว่า แต่มีความคล่องตัวและราคาถูกกว่า จึงได้พิจารณาจัดให้ผู้รับเหมารับงานต่าง ๆ กันไปตามความเหมาะสม โดยบริษัทฯจะสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้รับเหมารายกลาง-เล็ก โดยการจ่ายเงินเร็ว จัดซื้อวัสดุก่อสร้างให้บางส่วน เป็นต้น

ผู้รับเหมาทุกรายจะต้องทำงานภายใต้ระบบมาตรฐานการควบคุมงานแบบ ISO 9001:2015 และระบบ Q.C. ของ “ ศุภาลัย ”  เพื่อให้ได้มาตรฐานในระดับเดียวกัน

 

4.      การบริหารลูกหนี้

หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ลูกค้าของ “ ศุภาลัย ” ส่วนหนึ่งมีปัญหาไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาได้ บริษัทฯได้ใช้วิธียืดหยุ่นเพื่อให้ลูกค้ากระทบกระเทือนน้อยที่สุด คือ:-

1.        ลูกค้าที่สมาชิกครอบครัวเสียชีวิต หรือป่วยหนัก บริษัทฯจะคืนเงินดาวน์ให้ทั้งหมดโดยไม่คิดค่าปรับ หรือค่าเสียหายใด ๆ

2.        ลูกค้าที่สมาชิกในครอบครัวบางคนตกงาน ทำให้กู้เงินจากธนาคารไม่ได้ บริษัทฯจะแนะนำให้ยกเลิกสัญญาแปลงเดิม และคงเงินดาวน์ไว้จนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น ค่อยกลับมาซื้อใหม่

3.        ลูกค้าที่รายได้ต่อเดือนลดลง ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะผ่อนคืนเงินกู้กับธนาคารได้หรือไม่ บริษัทฯจะแนะนำให้ย้ายไปยังแปลงที่ดินและบ้านที่ราคาถูกลง

 

5.      การประกันภัย

การประกันภัย เป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสิ่งที่จะประกันและมูลค่าที่จะประกัน

บริษัทบางแห่งประกันอัคคีภัยคลุมถึงฐานรากและเข็มของอาคาร ซึ่งความจริงแล้วไม่ไหม้ไฟ และไม่จำเป็นต้องประกันอัคคีภัยในส่วนนั้นเลย

สถาบันบางแห่ง ซึ่งมีอาคารเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งสร้างด้วยวัสดุทนไฟ สร้างกระจายตามท้องที่ต่าง ๆ ใช้วิธีพิจารณาเลือกประกันเฉพาะแห่งที่มีความเสี่ยงต่ออัคคีภัย

 

6.      การจัดซื้อ

“ ศุภาลัย ”  ได้ใช้วิธีการซื้อที่ดิน โดยการยืดหยุ่นตามความประสงค์และความจำเป็นของผู้ขาย  เช่น ผู้ขายบางคนต้องการราคาสูง แต่ไม่เกี่ยงที่จะรับเงินช้าบ้าง กรณีนี้อาจจะทำเป็นตั๋วอาวัล 1-4 ปี ผู้ขายบางคนต้องการรับเงินเร็ว แต่ยอมขายราคาถูกได้ ก็จะใช้วิธีนัดโอนเร็วและจ่ายเงินสดซึ่งทำให้ซื้อที่ดินได้ง่ายขึ้น

 

7.  การประชุม

                        บริษัทฯ ต่าง ๆ ในปัจจุบัน มักนิยมใช้วิธีการประชุมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ตัดสินใจ ฯลฯ มีจำนวนมากที่ประชุมบ่อยครั้งเกินไป นัดประชุมจำนวนคนมากเกินไป หรือประชุมด้วยเรื่องเล็กน้อยเกินไป ซึ่งไม่สมควรแก่การนัดประชุม ซึ่งถ้าคิดเป็นเวลาที่เสียไปไม่คุ้มกับผลที่ได้ เช่น

                        ถ้านัดประชุมจำนวนคน  30  คน เป็นเวลา  3  ชั่วโมง จะเป็นเวลา Man-hour รวมถึง  90  ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับคนหนึ่งทำงานเป็นเวลา  11  วันเศษ เป็นต้น

                        บางครั้ง การลงมติในที่ประชุมโดยถือคะแนนเสียงเท่ากัน หนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง โดยที่พื้นฐานความรู้ประสบการณ์ไม่เท่ากัน ก็ทำให้มติเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น

                        บริษัท ชั้นนำของโลกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  มีห้องประชุมถึง  14  ห้อง จากจำนวนพนักงานประมาณ  300  คน  โดยจัดห้องประชุมแยกกระจายตามขั้นต่าง ๆ  ขณะเดียวกับที่บางบริษัทลดจำนวนห้องประชุมที่แยกตามชั้นต่าง ๆ ลง และรวมไว้ในชั้นเดียวกัน จะทำให้ลดค่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ ที่ต้องใช้ลง เป็นต้น วิธีนี้ยังอาจออกแบบให้ยืดหยุ่นเปิดทะลุขยายเป็นห้องใหญ่ได้ด้วย

 

ตัวอย่างข้างต้นเป็นแนวทางการจัดการที่ชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดการบนพื้นฐานจริยธรรม จรรยาบรรณที่ดีนั้น ไม่ได้มีผลทำให้กำไรของบริษัทลดลงอย่างที่หลายคนคิด ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าการจัดการสามารถพัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่าได้เสมอ ถ้าเราไม่หยุดนิ่งและพร้อมที่ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีเดิม ๆ หรือสิ่งที่คุ้นเคยอยู่แล้ว เราจะสามารถสร้างนวัตกรรมการจัดการใหม่ ๆ ได้ไม่สิ้นสุดเปรียบประดุจท้องฟ้าที่ไร้ขอบเขต

 
                                                          
ประทีป  ตั้งมติธรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้