1101 จำนวนผู้เข้าชม |
BITA Economy: ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 8 จังหวัดภาคตะวันออก
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก งบลงทุนร้อยละ 80 ของงบประมาณถูกจัดสรรลงในพื้นที่นี้ ดังนั้นความสำเร็จหรือล้มเหลวของ EEC ย่อมส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้
ผมเสนอว่าเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ EEC ไทยควรยกระดับ EEC ให้เป็น EEC Plus โดยเปรียบ 3 จังหวัดใน EEC เป็นไข่แดง และอีก 5 จังหวัดในภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก) เป็นไข่ขาว และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์จังหวัดแต่ละจังหวัด โดยยุทธศาสตร์จังหวัดนั้นต้องเสริมภาพรวมของ EEC จากหลักคิดดังกล่าว ผมจึงเสนอแนวคิดการพัฒนาบนจุดแกร่งของทั้ง 8 จังหวัด หรือ EEC Plus โดยเรียกว่า “BITA Economy” ซึ่งประกอบด้วย
1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Green Economy)
ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพและหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงสอดคล้องกับการตระหนักถึงความเป็นมิตรทางสิ่งแวดล้อม
2) เศรษฐกิจการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ (Integrated Tourism Economy)
ภาคตะวันออกมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลาย ที่สามารถนำเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ เช่น อาหาร สมุนไพร บริการทางการแพทย์ ประวัติศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาสนามบิน รถไฟความเร็วสูง จะทำให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
การส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแบบบูรณาการนี้อาจครอบคลุม การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเพื่อการค้า การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพ (Wellness Tourism) เป็นต้น
3) เศรษฐกิจอัตโนมัติ (Automation Economy)
ภาคตะวันออกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้มีโอกาสพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่บูรณาการหลายสาขาเข้าด้วยกัน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องกล อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามบรรดาชาติมหาอำนาจก็พัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางนี้เช่นกัน ไทยจึงต้องเน้นด้านที่เป็นช่องว่างในตลาดย่อย (sub-niche) ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานหรือประยุกต์ใช้งานเจาะจงด้านที่เป็นจุดแกร่งประเทศ เช่น ระบบอัตโนมัติสำหรับเกษตร บริการสุขภาพ เป็นต้น
หลังจากพิจารณายุทธศาสตร์ของภูมิภาคแล้ว ยุทธศาสตร์แต่ละจังหวัดควรจะสอดคล้องไปในทิศทางนี้ และช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งผมเสนอยุทธศาสตร์ของ 8 จังหวัดใน EEC Plus ดังนี้
1) ระยอง : อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (ชีวเคมี) และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีสร้างรายได้ครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมระยอง โดยเป็นการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัดเป็นหลัก ซึ่ง ปตท. มีศักยภาพและความตั้งใจในการพัฒนาด้านพลาสติกชีวภาพ (Bio – plastic) โดยได้ตั้งสถาบันวิทยสิริเมธีขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัย ระยองจึงควรให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การนำวัสดุทางชีวภาพมาใช้การสร้างวัสดุใหม่ การพัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลาย หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น
นอกจากนั้น ระยองยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สวยงาม และอยู่ใกล้กับพัทยาที่มีชื่อเสียงระดับโลก จึงเหมาะที่จะดึงดูดการลงทุนและท่องเที่ยวทางธุรกิจจากต่างประเทศอีกด้วย
2) ชลบุรี : อุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI-Robot) การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ปัจจุบันชลบุรีเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นอำเภอศรีราชายังเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งสามเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
อย่างไรก็ดีการพัฒนาอุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในชลบุรีควรเน้น ช่องว่างการตลาดย่อย (sub-niche) บางด้าน เช่น ผลิตชิ้นส่วน เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของแมคคาทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ หรือ ประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนช่องว่างทางการตลาดด้านอื่นของภูมิภาค เช่น การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ พัทยายังมีทะเลและชายหาดที่สวยงาม ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึงร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด การลงทุนจากโรงพยาบาลเอกชนก็เติบโตเพื่อให้บริการชาวต่างชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้จังหวัดชลบุรีเป็นที่ตั้งของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา)และศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) ซึ่งทั้งหมดสนับสนุนใหชลบุรีเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
3) ฉะเชิงเทรา : อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพ (Food Wellness Tourism)
อุตสาหกรรมยานยนต์ในฉะเชิงเทรามีมูลค่าสูงสุดในภูมิภาค แต่ความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมบางส่วนต้องหยุดดำเนินการ ดังนั้นจึงควรมีแนวทางสนับสนุนการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร หรือยานยนต์ในชนบท
นอกจากนั้นฉะเชิงเทรายังเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ โดยสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายชนิด มีคุณภาพ และผลิตได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เช่น ไข่ไก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ สุกร เป็นต้น จึงสามารถพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกด้วย
4) ปราจีนบุรี : เมืองหลวงสุขสภาพโลก (World Wellness Capital)
จุดแข็งโดดเด่นสุดของปราจีนบุรี คือ การมีองค์ความรู้ด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย และเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยรัฐบาลส่งเสริมเป็นเมืองสมุนไพรนำร่อง ปราจีนบุรีจึงควรยกระดับไปสู่ “เมืองสุขภาวะ” พัฒนาอุตสาหกรรมสุขสภาวะมุ่งเป็นเมืองหลวงสุขสภาพโลก (World Wellness Capital)
5) จันทบุรี : เมืองหลวงผลไม้โลก (World Fruit Capital)
ผลิตภัณฑ์มวลจังหวัด (GPP) จันทบุรี ภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 55.4 ของ GPP จังหวัด และมีมูลค่าสูงสุดในประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก โดยให้จันทบุรีเป็น “นครผลไม้ของโลก” จันทบุรีจึงเหมาะเป็นเมืองหลวงผลไม้โลก (World Fruit Capital)
6) ตราด : การท่องเที่ยวทางทะเลและหมู่เกาะ และการท่องเที่ยวเชิงอาหารทะเล (Island Tourism and Seafood Tourism)
เนื่องจาก ตราดมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและหมู่เกาะ มีแนวชายฝั่งทะเลยาว 165.5 กิโลเมตร มีหมู่เกาะน้อยใหญ่ 52 เกาะ โดยเฉพาะเกาะช้าง ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ มีป่าชายเลนที่หนาแน่น ทำให้ตราดมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในกลุ่มภาคตะวันออก 2 นอกจากนี้ตราดยังมีสนามบินเอกชน โดยมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 3 เที่ยวบินต่อวัน และได้รับการอนุญาตเป็นสนามบินศุลกากรแล้ว ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมง สูงที่สุดของภาคตะวันออก
7) สระแก้ว : การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงการค้าไทยอินโดจีน (Historic Heritage Tourism and Thai-Indochina Trade Tourism)
สระแก้วมีการค้าชายแดนมากที่สุดในภาคตะวันออกเพราะเป็นประตูการค้าไปสู่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมขอม กลายเป็นหนึ่งในเส้นทางไปเดินทางไปนครวัด ที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวระดับโลก
8) นครนายก : การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-Tourism)
นครนายก อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นศูนย์กลาง มีที่พักที่สามารถรองรับกับการท่องเที่ยว การประชุม อบรม สัมมนา และการบริการด้านต่าง ๆ ใกล้กรุงเทพฯ และจำนวนผู้มาเยือนมากที่สุดในกลุ่มภาคตะวันออก 2 จึงเหมาะจะเป็นเมืองการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแต่ละจังหวัดจะโดดเด่นเพียงใด แต่หากไม่ถูกนำมาใช้อย่างมียุทธศาสตร์ ไม่มีการบูรณาการให้สนับสนุนกันและกัน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการใช้จุดแกร่งของแต่ละพื้นที่ให้เกิดคุณค่าสูงสุด นั้นเพราะ “โอกาส” นอกจากจะเป็นของคนที่พร้อมกว่าแล้ว “โอกาส” ยังเป็นของคนที่เห็นมันก่อนด้วยครับ